กระทรวงทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รับแจ้งพบซาก พะยูน ลอยระหว่างเกาะยา-เกาะไหง ออกค้นหายังไม่พบ คาดตายแล้ว 5-7 วัน ชี้ เป็นตัวที่ 11 ของทะเลตรัง
เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2562 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) โดยสำนักงานบริหาร ทช. ที่ 10 (ตรัง) รับแจ้งจาก นายสมศักดิ์ พันธุ์เมศ กรณีพบซากพะยูน ลอยในทะเลระหว่างเกาะยา จ.ตรัง และเกาะไหง จ.กระบี่ สภาพซากมีลำไส้ทะลักออกมา ไม่สามารถระบุเพศได้ เนื่องจากลำไส้ทะลักออกมาปิดบริเวณหน้าท้อง เมื่อทราบเรื่องทางกรม ทช. ได้เร่งนำเรือ ทช. ออกไปค้นหาตั้งแต่เวลา 12.00-15.30 น. ซึ่งช่วงดังกล่าวมีฝนตกและคลื่นลมแรง จากความพยายามในการค้นหาตามพื้นที่ที่ได้รับแจ้งมากกว่า 3 ชั่วโมง ก็ไม่พบซากพะยูน จึงยุติภารกิจการค้นหา แต่จากภาพซากพะยูนตามที่ผู้พบได้ภ่ายภาพไว้ คาดว่าพะยูนตัวนี้มีความยาวประมาณ 150 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 80 กิโลกรัม และคาดว่าตายมาแล้วประมาณ 5-7 วัน
ทั้งนี้ ได้ประสานเครือข่ายในพื้นที่ชายฝั่ง ให้ช่วยกันตรวจสอบตามพื้นที่ชายหาดและในทะเล หากพบเจอซาก ขอให้แจ้งมาที่กรม ทช. ในพื้นที่เพื่อดำเนินการต่อไป
ขณะเดียวกัน นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานด้านการจัดการสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า มีรายงานพะยูนตายอีกแล้ว พบที่กลางทะเลตรัง นับเป็นตัวที่ 19 ของปีนี้ ยังไม่ได้นำเข้าฝั่ง จึงยังไม่ทราบสาเหตุ
ปรกติพะยูนตาย 10-12 ตัวต่อปี แต่ปีนี้ยังไม่ถึง 10 เดือน ตายไปแล้ว 19 ตัว ตัวเลขนี้คิดเป็นเกือบ 10% ของพะยูนที่ตรัง-กระบี่ (200 ตัว) มากเกินกว่าการเกิดทดแทนได้ตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้น ปีนี้จำนวนพะยูนเราอาจลดลง หลังจากค่อยๆ เพิ่มมาในระยะหนึ่่ง
ทราบดีว่าทุกฝ่ายพยายามเต็มที่ แต่เราคงต้องการอะไรที่พลิกโฉม ยกระดับทั้งหมด โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับผู้คนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยสนับสนุนให้พี่น้องชายฝั่งอยู่ร่วมกับพะยูนได้
มาเรียมโปรเจ็ค จะเข้าคณะกรรมการทะเลแห่งชาติตอนปลายเดือน หวังว่าทุกอย่างคงเป็นไปด้วยดี เพราะนี่แหละเป็นความหวังที่น่าจะเป็นจริงได้เร็วที่สุดของเรา เศร้าครับ แต่ต้องพยายามเต็มที่ สิ่งที่ผมพอทำได้คือดันมาเรียมโปรเจ็คให้ผ่าน พี่น้องแถวนั้นก็ช่วยกันดูแลพื้นที่ช่วยกันรายงาน ไม่มีอะไรง่ายแต่เรายอมแพ้ไม่ได้
ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ตายสูงขึ้นกว่าทุกปี
ขณะที่เพจ ReReef โพสต์เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า นอกจากจะเป็นตัวที่ 11 ของทะเลตรัง ยังเป็นตัวที่ 19 แล้วเท่าที่มีข้อมูลของปีนี้ นับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยพบประมาณปีละ 10-12 ตัว ซึ่งก็นับว่าสูงมากแล้วกับกลุ่มประชากรสัตว์ทะเลหายากที่คาดว่าเหลืออยู่เพียง 200-250 ตัวเท่านั้นในประเทศไทย
ด้วยอัตราการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติที่ต่ำ หากต้องการให้พะยูนอยู่คู่ทะเลไทย จะต้องป้องกันไม่ให้มีอัตราการตายสูงเกิน 5% ต่อปี หมายความว่าไม่ควรมีพะยูนเสียชีวิตเกิน 10-12 ตัวต่อปี ถ้าสูงกว่านี้ประชากรจะค่อยๆ ลดลง จนเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
เพจดังกล่าวระบุว่า จากข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร้อยละ 90 ของสาเหตุการตายของพะยูนคือการติดเครื่องประมงโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งคงต้องเร่งหาทางออกที่เหมาะสมต่อไป
ภาพ : สมศักดิ์ พันธุเมศ