กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สรุปผลชันสูตรฉลามวาฬ ตายที่กาะลิบง จ.ตรัง พบมีภาวะช็อกเฉียบพลัน เนื่องจากการถูกเชือกพันรัด จนมีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลัน ธรณ์ ระบุ 3 ปี มีฉลามถูกเชือกติดหาง 7 ตัว ช่วยได้แค่ 2 ตัว
วันนี้(17 พ.ย. 2562) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 7 (ตรัง) เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ตรวจสอบซากฉลามวาฬ บริเวณหาดยาว ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ผลการตรวจสอบพบเป็นฉลามวาฬ ตัวผู้ อายุในช่วงวัยรุ่น สภาพซากเน่า ขนาดความยาว 5.30 เมตร
พบเชือกพันรัดที่บริเวณโคนหาง ไม่พบบาดแผลภายนอกลำตัว บริเวณครีบหลังที่ 1 มีรอยแผลเป็นจากการถูกใบพัดเรือฟัน คาดว่าเป็นแผลเดิมที่เป็นมานานแล้ว
เมื่อเปิดผ่าอวัยวะภายในพบว่าลักษณะหัวใจซีด คาดว่าอาจเกิดจากภาวะช็อก เนื่องจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงเฉียบพลัน ภายในหัวใจไม่พบพยาธิ ตับมีสีสม่ำเสมอ ลักษณะเนื้อตับค่อนข้างเละ เนื่องจากสภาพซากเน่า ส่วนทางเดินอาหารพบอาหารในกระเพาะอาหารจำนวนมาก เป็นพวกแพลงก์ตอน และปลาขนาดเล็ก
สรุปสาเหตุการตายคาดว่าเเกิดจากภาวะช็อก เนื่องจากการถูกเชือกพันรัด ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลัน ส่งผลให้ตายอย่างเฉียบพลัน
โดยทีมสัตวแพทย์เก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อ เพื่อส่งตรวจทางดีเอ็นเอ ตรวจทางจุลพยาธิวิทยา และเก็บอาหารในกระเพาะอาหารตรวจวิเคราะห์ละเอียดทางห้องปฎิบัติการต่อไป
สำหรับซากฉลามวาฬตัวนี้ ชาวบ้านแจ้งเจ้าหน้าที่พบลอยใกล้หมู่เกาะลิบง เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ที่ผ่านมา และถือเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปีที่เจอซากฉลามวาฬตายในทะเลเกาะลิบง โดยปีที่ผ่านมาเคยมีนักดำน้ำเจอฉลามวาฬในแนวปะการัง บ่งชี้ว่าสภาพพื้นที่มีความสมบูรณ์
ด้านนายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ระบุว่า มีฉลามวาฬตายที่ตรังครับ เป็นฉลามวาฬวัยรุ่นตัวผู้ ยาว 5.3 เมตร ผลการชันสูตรโดยกรมทะเล พบว่าที่หางมีเชือกรัด สรุปสาเหตุการตายคาดว่าเกิดจากภาวะช็อก เนื่องจากการถูกเชือกพัน
เมื่อดูจากผลชันสูตร ผมคิดว่าฉลามวาฬคงติดอวน ชาวประมงใช้เชือกผูกหางก่อนลากออกจากอวน อาจรุนแรงจนฉลามวาฬช็อกตายทันที
คิดว่าไม่ใช่เป็นเชือกติดหางมาเรื่อยๆ จนตาย เพราะในทางเดินอาหารยังมีอาหารสมบูรณ์ แปลว่าหากินปกติ ก่อนตายเฉียบพลัน เมื่อเดือนก่อน มีการช่วยฉลามวาฬ ที่แท่นผลิตปิโตรเลียมกลางอ่าวไทย ผมเคยพูดถึงประเด็นฉลามวาฬติดอวนแล้วต้องผูกหางดึงออก เคราะห์ดีที่ไม่ตาย จนช่วยได้ในที่สุด
ในอดีตเมื่อ 2 ปีก่อน มีฉลามวาฬลอยน้ำตายอยู่ใกล้ภูเก็ต อาจเกิดจากสาเหตุคล้ายกัน
สรุปแล้ว เท่าที่ตามมาในรอบ 3 ปี มีฉลามที่มีเชือกติดหางไม่ต่ำกว่า 7 ตัว ช่วยได้ 2 ตัว ที่เหลือ 3 ตัวเชือกยังติดหางและไม่รู้อยู่ไหน อีก 2 ตัวตายตั้งแต่ก่อนช่วย ยังไม่นับอีก 1 ตัวที่ถูกกว้านขึ้นเรือ จนกลายเป็นประเด็นเข้าจับกุม
สาเหตุการบาดเจ็บและการตายของฉลามวาฬ ที่เกิดจากมนุษย์ โดยเฉพาะการประมง ถือว่าสูง เพราะไม่ใช่การตายตามธรรมชาติ แม้ว่าชาวประมงไม่ต้องการจับฉลามวาฬ และมีหลายครั้งที่ปล่อยไปได้อย่างปลอดภัย แต่เราคงไม่สามารถละเลยประเด็นนี้ได้
เรื่องนี้ไม่ได้แก้ไขโดยง่าย เพราะฉลามวาฬหากินในพื้นที่กว้าง จัดการพื้นที่อนุรักษ์พะยูน โลมาบางชนิดยังง่ายกว่า เพราะมีหลักแหล่งแน่นอน คณะกรรมการทะเลแห่งชาติกำลังจะหมดวาระ แต่เชื่อว่ากรมทะเลคงเริ่มหาหนทาง เมื่อคณะกรรมการชุดใหม่รับหน้าที่ คงเร่งดำเนินการในเรื่องนี้ ไม่ง่าย...ยากแน่ แต่เราคงไม่สามารถปล่อยให้ฉลามวาฬ ปลาใหญ่ที่สุดในโลก สัตว์สงวนแห่งทะเลไทย และน้องจุดผู้น่ารักสำหรับทุกคนที่เคยพบเจอ ตายอย่างนี้ไปเรื่อยๆ