News
การติด TAG วาฬบรูด้า ที่อ่าว ก ไก่
โน่นไง ขึ้นมาแทงปลาแล้ว!!!
อ้าปากกางกว้าง ค้างอยู่นานอึดใจใหญ่ ก่อนจะปิดโครม และจมตัวลง
หากมองดูจากใต้น้ำ จะเห็นภาพวาฬร่างยักษ์ที่เพิ่งจะจมตัวลง ปล่อยให้น้ำไหลออกจากซี่กรอง คัดเอาแต่ 'เหยื่อ' อย่างปลากระตักไว้ กลืนลงท้อง
ก่อนจะกลับขึ้นสู่ผิวน้ำเพื่อหายใจ และเริ่มต้นวงรอบฮุบเหยื่อใหม่อีกครั้ง
นั่นคือพฤติกรรมการกินรูปแบบหนึ่งของ วาฬบรูด้า เป้าหมายสำคัญของปฏิบัติการสำรวจชีวิตความเป็นอยู่ของวาฬตระกูลนี้โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนที่ทำต่อเนื่องมากว่า 10 ปี
ความผูกพันของ 'วาฬ' กับ คนไทย โดยเฉพาะชาวประมง ถือว่าไม่ใช่แค่ รัก หากแต่ 'เคารพ' ยิ่ง บ้างก็เรียก 'ปลาปู่' บ้างก็ขาน 'ปลาเจ้า' ไม่ใช่แค่เพราะขนาดที่ใหญ่จนสร้างความยำเกรง หากแต่การพบเห็นแต่ละครั้ง ถือเป็นลางดีสำหรับชาวประมง เพราเป็นที่รู้กันว่า ถ้าวาฬมาเยือนเมื่อไหร่ นั่นหมายถึงฝูงปลาทูที่ไม่เคยผิดนัด
จากหลักฐานชิ้นสำคัญอย่าง โครงกระดูกวาฬบรูด้า ซึ่งเก็บอยู่ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช ตั้งแต่ พ.ศ.2452 บวกกับโครงกระดูกวาฬบรูด้า และวาฬโอมูร่า (วาฬในวงศ์เดียวกันกับบรูด้า) ที่เก็บไว้ตามวัด หรือสถานศึกษาตลอดชายฝั่งทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามันอีกจำนวนไม่น้อย น่าจะเพียงพอที่จะสรุปว่า วาฬบรูด้า ถือเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมญาติสนิทที่ชิดเชื้อกับคนไทยเรามานานกว่าร้อยปี
แต่ถึงแม้จะอยู่ร่วมกันมานานถึงเพียงนั้น ญาติสนิทอย่างเรากลับรู้จักวาฬบรูด้าเพียงน้อยนิด ไม่รู้แม้กระทั่งเส้นทางการหากิน ความเป็นอยู่ พฤติกรรมต่างๆ นำมาสู่ความมุ่งมั่นที่จะศึกษา ทำความรู้จักญาติตัวยักษ์เหล่านี้ให้มากขึ้น
กระแสวาฬไทย
หากนับถอยหลังไป 3 ปีก่อน กระแสท่องเที่ยวดูวาฬเป็นที่นิยมมากจากการพบพบฝูงวาฬบรูด้าจำนวน 14 ตัวที่อ่าวไทย บริเวณ จ.สมุทรสาคร ในปี 2553 ซึ่งในครั้งนั้นถือว่า 'มากที่สุด' แล้ว แต่ถัดมาเพียงปีเดียวกลับพบว่า จำนวนวาฬบรูด้าที่พบในอ่าวไทยเพิ่มสูงขึ้นเกือบเท่าตัว โดยพบมากถึงวันละ 6-20 ตัว ซ้ำกันบ้าง ไม่ซ้ำกันบ้างในแต่ละวัน นับรวมได้ทั้งสิ้น 24 ตัว และหากนับรวมทั้งหมดที่ทีมสำรวจเริ่มทำการบันทึกเป็นภาพถ่าย Photo ID ไว้ตั้งแต่ปี 2551 ได้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 35 ตัวที่ว่ายเวียนเข้ามาหากินในอ่าวตัว ก.
ขณะที่ช่วง 'วาฬบุก' ซึ่งโดยปกติจะชุกที่สุดตั้งแต่เดือนกรกฎาคมไล่ไปจนถึงราวตุลาคมของทุกปีนั้น ในปี 2555 พิเศษยิ่งกว่าเรื่องของจำนวน เพราะพบว่า วาฬบรูด้าเข้ามาหากินใกล้ชายฝั่ง โดยห่างจากปากแม่น้ำเจ้าพระยาเพียง 5 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ในปีเดียวกัน ราวต้นปี 2554 กลับพบวาฬบรูด้าตายลอยเข้ามาในบริเวณอ่าวไทยแยกขึ้นไปเกยหาดตามที่ต่างๆ ในเวลาไล่เลี่ยกันโดยไม่ทราบสาเหตุ
เหล่านี้คือ ภารกิจที่แสนจะท้าทายของทีมสำรวจประจำศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนที่ต้องหาคำตอบของปริศนาที่ยังแอบซ่อนอยู่ โดยเฉพาะภารกิจแรกดูเหมือนจะถูกเร่งเป็นพิเศษเพื่อให้ตอบรับกับการท่องเที่ยวดูวาฬซึ่งภาคราชการทั้งจากส่วนกลาง และท้องถิ่นอยากจะโปรโมทให้เป็นไฮไลต์ใหม่ของการ 'ท่องไทย'
ปีที่แล้วเจอวาฬน้อยมาก เจอแค่สองตัว คือเจ้าสามมุข กับ เจ้าสุขใจ อย่างเมื่อ 3 เดือนที่แล้วก็พานักท่องเที่ยวออกทะเล ก็ไม่เจอวาฬ
เจอแต่โลมาอิรวดี เอกชัย ศรีนวล ผู้ประกอบการเรือนำเที่ยว ที่แหลมผักเบี้ย อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เล่าแกมบ่น
เพราะเมื่อเทียบกับเมื่อปี 2553 แล้วถือว่าต่างกันลิบ เนื่องจากในปีนั้นพบวาฬครั้งละหลายตัว หากินกันเป็นกลุ่ม ทั้งยังเจอง่ายกว่าเมื่อปีที่แล้วอย่างชัดเจน และส่งผลให้การท่องเที่ยวดูวาฬเป็นที่นิยมขนาดมีเรือเป็นสิบลำลอยเคียงไปกับวาฬ
สปีดโบ๊ทวิ่งมาจากพัทยายังมีเลยนะครับ เอกชัยเอ่ย และให้ข้อมูลเพิ่มอีกว่า จากการบูมในครั้งนั้น เลยส่งผลให้ที่แหลมผักเบี้ยในวันนี้มีผู้ประกอบการที่พร้อมพานักท่องเที่ยวไปดูวาฬรวมๆ แล้วเกือบร้อยลำ แม้ว่าเจ้าตัวจะไม่เดือดร้อนเท่าไรนักกับการที่ออกเรือแล้วไม่เจอวาฬสมใจ เพราะอาชีพหลักของเขาคือ นาเกลือ และนากุ้ง ส่วนการออกเรือดูวาฬนั้นไม่มีให้ทำก็ไม่เดือดร้อน แต่แน่นอนว่า นักท่องเที่ยวที่เสียเงินข้ามน้ำข้ามทะเลไปย่อมหวังจะได้เจอ ทำให้เอกชัยเองก็หวังว่า อยากจะให้ทีมวิจัยสามารถบรรลุเป้าหมายสำคัญ นั่นก็คือ การรู้เส้นทางวาฬ เพื่อที่การออกเรือแต่ละครั้งไม่เสียเที่ยว นักท่องเที่ยวไม่ต้องเสียเงินฟรี
ล่า 'ยิง' วาฬ
แม้จะทำการสำรวจวาฬบรูด้ามานานถึง 10 ปีเศษ แต่ศูนย์วิจัยฯ เพิ่งจะสามารถทำอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการบันทึกภาพถ่ายเพื่อระบุอัตลักษณ์ของวาฬ (Photo Identification, Photo-ID) ก็เมื่อปี 2551 หรือเมื่อ 5 ปีก่อนนี่เอง
กาญจนา อดุลยานุโกศล นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน เจ้าของฉายา 'แม่หมูน้ำ' ตามความเชี่ยวชาญเรื่องปลาพะยูนที่เจ้าตัวทำมาเป็นสิบปี ก่อนจะย้ายมารับผิดชอบท้องที่อ่าวไทยตอนบน ซึ่งแม้ไม่มีพะยูน แต่สำหรับวาฬแล้ว เธอสู้ไม่แพ้กัน!
ช่วงที่ย้ายมาเป็นช่วงที่มีวาฬเข้ามาเยอะมากเป็นพิเศษจนเกิดเป็นกระแสขึ้น จากเดิมทีมงานทำอยู่ก่อนแล้ว ตั้งแต่ปี 2545 แต่ช่วงที่สำรวจเมื่อก่อน จะเจอวาฬบรูด้าไม่มาก เห็นแค่ไม่กี่ตัวก็ตื่นเต้นแล้ว เพราะเจออย่างมากสุดประมาณ 4 ตัวต่อครั้ง ส่วนเครื่องไม้เครื่องมือก็ยังไม่ได้ดีเท่าปัจจุบัน ภาพถ่ายก็ซูมมากไม่ได้ ถึงถ่ายมาติดแต่ก็ไม่สามารถจำแนกได้อยู่ดี กาญจนา เล่า
ขณะที่วันนี้ ทุกครั้งที่ทีมล่าวาฬออกปฏิบัติการ อุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็นกล้องส่องทางไกล, กล้องถ่ายรูปดิจิทัลขั้นเทพ พร้อมเลนส์ซูมขั้นพื้นฐานที่ห้ามลืมเด็ดขาด คือ 70-300 มม. พ่วงด้วยกล้องวีดิโอความละเอียดสูง เครื่อง GPS เพื่อระบุตำแหน่งที่พบ ทั้งหมดต้องถูกหอบหิ้วลงเรือไปโดยเจ้าหน้าที่ราว 5-6 คนต่อการออกเรือหนึ่งครั้ง คนหนึ่งถือกล้องเลนส์มาตรฐานสำหรับภาพกว้าง อีกคนจัดเลนส์ข้ามหลามสำหรับซูมระยะไกล อีกหนึ่งบันทึกภาพเคลื่อนไหว อีกหนึ่งถือดาต้าชีทไว้คอยจดบันทึกพฤติกรรมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการหายใจ การเลี้ยงลูก แม้กระทั่งวิธีการจีบกันก็ห้ามพลาด ส่วนอีกหนึ่งมีหน้าที่บันทึกหมาย(พิกัด)ที่เจอ และสุดท้ายหากคนเหลือต้องทำหน้าที่เป็นแมวมอง คอยช่วยสอดส่องอยู่นอกเลนส์
...นั่นคือ 'อย่างน้อย' ของการออกเรือสำรวจวาฬแต่ละครั้ง ที่ไม่มีใครบอกได้ว่า วันนั้นๆ จะเจอ หรือ วืด
บางทีก็ต้องไปจอดแวะถามเรือประมงน่ะครับ ว่าเห็นบ้างไหม เขาก็จะวิทยุถามเรือลำอื่นๆ ให้ สุระชัย ภาสดา หรือ 'ขาว' เจ้าพนักงานประมงปฏิบัติงาน กลุ่มงานสัตว์ทะเลหายาก ผู้ได้ชื่อว่า 'ตาไว' เป็นพิเศษเล่าให้ฟัง
ในบางครั้ง ไม่ใช่แค่ไม่เจอ เพราะยังซวยถึงขั้นเรือเกือบแตกก็มี เพราะเกิดแล่นไปชนตอเข้าให้ กว่าจะรู้น้ำก็ซึมขึ้นมาถึงพื้นเรือแล้ว หรือบางครั้งก็เจอมรสุมหนักเสียจนต้องลอยคอหลบพายุอยู่นานกว่าจะกลับเข้าฝั่งได้ เรียกว่าอาการโคลงเคลงตามมาถึงเตียงเลยก็มี แต่ไม่ว่าจะวืดบ้าง เจอบ้าง พวกเขาก็ไม่ท้อ เพราะถ้าเมื่อไหร่ได้เจอ ถือว่า คุ้มค่า
เขาจะขึ้นกินเป็นชั่วโมงเลยละครับ เราก็นั่งดู สังเกตพฤติกรรมได้เยอะมาก โดยส่วนตัวขาวแล้ว เขาชอบ 'เจ้าบันเทิง' มากเป็นพิเศษ เพราะความร่าเริง ขี้เล่น เพียงแค่การพบกันครั้งแรก ยังใจกล้าขนาดว่ายวนเรือถึงสามครั้งสามครา แถมยังอ้าปากโชว์ลายขอบปากให้เป็นหนึ่งอัตลักษณ์ส่วนตัวให้ดูอีกด้วย
สบายๆ คือ (วาฬ)ไทยแท้
นิสัยสนุกสนาน ขี้เล่น เป็นกันเอง เป็นพฤติกรรมที่พบเห็นได้บ่อยเป็นพิเศษจากการออกเรือสำรวจวาฬบรูด้าในประเทศไทย อย่าง เจ้าพาฝัน ก็เป็นหนึ่งในวาฬน้อยแสนซนที่ชอบว่ายเข้ามาวนเวียนใกล้ๆ เรือสำรวจ นิสัยเฉพาะตัวของวาฬแต่ละตัว เรียกว่า ชัดเจนมาก ถ้ายิ่งออกเรือบ่อยอย่างเจ้าหน้าที่ของศูนย์ บางครั้งเห็นปราดเดียวก็แยกออกแล้ว แต่เพราะนี่คืองานวิชาการ เรื่องของหลักการจึงจำเป็น โดยกาญจนา อธิบายถึงหลักการจำแนกว่า ต้องอาศัยตำหนิบริเวณครีบหลัง ส่วนหัว ตลอดจนตำหนิต่างๆ ตามลำตัวเพื่อจำแนกประชากรปลาวาฬบรูด้า
เราดูที่ครีบเป็นหลัก ว่ามีรอยเว้าแหว่งไหม เป็นรูปอะไร แต่ถ้าครีบหลังสมบูรณ์ ก็ต้องดูที่เพดานปาก ซี่กรอง และลายขอบปาก ว่ามีขีด จุดดำบ้างไหม กาญจนา อธิบาย และเมื่อสามารถจำแนกอัตลักษณ์ของวาฬตัวนั้นๆ ได้ชัดเจนแล้ว การตั้งชื่อ คือ ภารกิจ ต่อมา
ชื่อที่ตั้ง จะบอกน้องๆ เสมอ ว่าเราต้องให้เกียรติเขา คุณอย่าไปเอาลักษณะด้อยมาตั้งชื่อ ถ้าคุณเรียกชื่อลูกคุณว่า ไอ้แหว่งไอ้ค่อมได้ เราถึงจะอนุญาตให้ตั้งชื่อสัตว์พวกนี้แบบนี้ได้เหมือนกัน แล้วก็ไม่อยากให้เรียกว่า 'ไอ้' ด้วย เพราะบางทีชื่อนั้นอาจจะไปพ้องกับชื่อคนก็ได้ ถึงเราจะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม
สำหรับคำเรียกนำหน้าวาฬเหล่านี้ กำหนดให้ใช้คำว่า 'เจ้า...' แทนวาฬตัวผู้ และวาฬเด็กๆ ที่ยังไม่รู้เพศ ส่วนวาฬที่ให้ลูกแล้วจะเรียกว่า 'แม่...'
โดยการตั้งชื่อจะตั้งตามสถานที่ที่พบ เดือนหรือวันที่พบ ถ้าไม่ได้ ก็จะเน้นชื่อที่เพราะให้ความหมาย เช่น 'เจ้าเมษา' เจ้าของอัตลักษณ์ ครีบหลังมีรอยขาดนั้น ไม่ต้องเดาให้ยากก็รู้ว่า เจอกันครั้งแรกเดือนเมษายน ไม่ต่างกันกับ 'เจ้าสิงหา'
เรื่องสถานที่ที่พบ ก็นำมาตั้งเป็นชื่อไม่น้อย อาทิ 'แม่สาคร' เจอที่สมุทรสาคร ส่วนลูกเจอที่ท่าจีน ก็เลยได้ชื่อ 'เจ้าท่าจีน' ไปตามระเบียบ ส่วนตัวน้องมีชื่อว่า 'เจ้าท่าฉลอม' คงไม่ต้องเดาว่าเพราะอะไร ส่วนตัวไหนซ่าหน่อยได้ชื่อ 'เจ้าบันเทิง' ไปอย่างไม่มีใครคัดค้าน ขณะที่ 'เจ้าจ๊ะเอ๋' ก็ได้ชื่อนี้มาเพราะชอบมาโผล่ปากงับๆ ออกแนวขี้เล่น
บางทีเจ้าของเรือก็ขอตั้งให้อย่าง 'เจ้าพัทธยา' คุณแดง (ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์) ขอเป็นคนตั้ง ไม่ใช่เพราะไปเจอที่พัทยา แต่อยากจะตั้งเป็นเกียรติให้กับพัทธยา เทศทอง ที่ไปคว้าเหรียญทองจากการแข่งขันบอคเซีย ในพาราลิมปิกเกมส์ 2012 ส่วนท่านเกษมสันต์ จิณณวาโส อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งก็ตั้งชื่อ 'เจ้าพาฝัน' ให้เป็นการแสดงถึงความตั้งใจที่จะพาทีมงานทำได้ตามที่ฝัน นั่นก็คือการอนุรักษ์วาฬบรูด้าอย่างจริงจังในประเทศไทย กาญจนาเล่า
อย่างล่าสุด ที่เพิ่งเป็นความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของทีมวิจัย ก็คือโครงการศึกษาการอพยพเคลื่อนย้ายของวาฬบรูด้า โดยการติดเครื่องหมายส่งสัญญาณดาวเทียม (Satellite Tag) เพื่อให้ทราบเส้นทางการอพยพ และพื้นที่การแพร่กระจายที่ชัดเจน ซึ่งได้ทำไปแล้วแต่เนื่องจากอุปกรณ์ที่ใช้เป็น Suction Cup ไม่เหมาะสมกับวาฬบรูด้าซึ่งมีขนาดเล็กและว่องไว ทำให้หลุดออกไปหลังจากติดได้ไม่นาน จึงวางแผนจะเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ชนิดอื่นแทน
เป้าหมายหนึ่งของภารกิจนี้ คือ การต่อจิ๊กซอว์ ค้นหาเส้นทางการอพยพของวาฬว่า เมื่อออกนอกน่านน้ำไทย วาฬเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหน และจะกลับมาเมื่อไหร่ เมื่อกลับมาแล้วอาศัยหากินอยู่ที่ไหน แน่นอนว่า หากภารกิจนี้สำเร็จ การท่องเที่ยวดูวาฬจะได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ แต่จากสภาพเละเทะของการท่องเที่ยวดูวาฬที่แม้จะมีผู้ประกอบการหลายรายปฏิบัติตามกฎระเบียบการดูวาฬอย่างเคร่งครัดจริง แต่ก็มีหลายรายที่พยายามเอาใจนักท่องเที่ยว เอาเรือเข้าใกล้วาฬ ไล่ต้อนและไล่ตามวาฬ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องต้องห้าม เพราะมีระยะปลอดภัยที่ห้ามเรือเข้าใกล้วาฬโดยเด็ดขาด จนในบางครั้ง นักวิจัยหญิงแกร่งคนนี้ ก็คิดแอบคิดไม่ได้ว่า เรื่องบางเรื่องปล่อยไว้ให้ลี้ลับต่อไปก็คงจะดีไม่น้อย...ตรวจชีพจรวาฬไทย หลังกระแสท่องเที่ยวดูวาฬฮือฮา เรือนับสิบมะรุมมะตุ้มดูจนคนรักวาฬพากันเครียด วันนี้ญาติตัวยักษ์ของคนไทยเป็นอย่างไร ต้องติดตาม
© 2016 ThaiWhales All Rights Reserved.