อาทิตย์ก่อนเดินหา Location กันสองคน วันนี้มี art director และทีม Production มาด้วยแล้ว เลือก Location กลางบึงน้ำ และอยากสร้างที่นั่งให้คุยกันใต้ต้นไม้กลางบึง Set ยากเลย หลังจากได้ Location แล้ว Art director ก็ทำ Key visual เพื่อจะสร้าง set ภายในสิ่งสำคัญ 2 อย่างคือ ต้องใช้ไม้เก่าไม่ตัดต้นไม้เพิ่ม และ ต้องให้เหมือนสะพานและที่นั่งนี้อยู่ต้องนี้มานานแล้ว
เหมือนเวลาเรานั่งพูดคุยกับเพื่อน ๆ ที่มีแนวคิดหลายมุมมอง เราต้องการเพื่อนรวมวงสนทนาที่มีความรู้และทำงานเรื่องสัตว์ทะเลหายากมาอย่างยาวนานนักวิชาการสองคนที่เรานึกถึง คือ อาจารย์ ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และ ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ การชักชวนทั้งสองคนให้มาร่วมวงสนทนาจึงเกิดขึ้น คุณทอม โพธิสิทธิ์ ช่างภาพ และ นักแสดงที่เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ อย่างสายป่าน อภิญญา เป็นอีกสองคนที่เราคิดว่าจะมาช่วยให้เรื่องราวของโลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลานี้ได้กลับมาอยู่ในความสนใจของผู้คนอีกครั้ง ใน The Last 14 ภาพยนตร์สารคดีเพื่อโลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา
11 มกราคม ช่วงเดือนมกราคมทั้งเดือนที่เราค้นคว้า พูดคุยทั้งจากชาวประมง นักวิชาการ สัตวแพทย์ เพื่อมาเขียนบทเรื่อง “วิกฤตวาฬ” ต่อยอดจากงานจากสารคดีชุดวาฬบอกทีเดิม เรานั่งคิดและมองกระดานที่เต็มไปด้วยภาพการป่วยของสัตว์ทะเลหายากชนิดต่างๆ ภาพการช่วยชีวิต และการตาย ที่อยู่ในห้องที่พวกเราเขียนบท พวกเราเห็นพ้องต้องกันว่า ถ้าพูดถึงคำว่า “วิกฤตของวาฬและโลมา” มันไม่มีอยู่บนกระดานนี้เพราะมันวิกฤตมากจริงๆ เราถึงไม่เคยได้มีภาพและรับรู้เรื่องราวของเค้ามากพอ โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา คือวิกฤตที่สุดกว่า species ไหนๆ เราได้ชื่อเรื่องของสารคดีเรื่องนี้แล้ว “The Last 14”
เมื่อเริ่มงานถ่ายทำสารคดีเรื่องใหม่ของ ThaiWhales เกี่ยวกับวิกฤตวาฬ ซึ่งได้รับทุนต่อเนื่องจาก กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เราคิดว่าเราน่าจะเริ่มจากวาฬบรูด้าที่เราคุ้นเคยและติดตามเค้ามายาวนานมากว่า 10 ปี และเป็นพระเอกจากสารคดีเรื่องวาฬบอกที เราเริ่มจากการไปตามหาอาหารของพวกเค้า แบกกล้อง 5 ตัว ขึ้นเรือประมงไทยลำใหญ่ไปกลางอ่าวไทย ควบภารกิจทั้งสำรวจวาฬตอนกลางคืนในจุดที่ไปไกลกว่าการสำรวจปกติ และ เป็นการเปิดกล้องจริงจังของสารคดีชิ้นใหม่ของพวกเรา
เราได้รับเชิญให้ไปฉายภาพยนตร์วาฬบอกที และมีการเสวนาหัวข้อ วิกฤตวาฬ=วิกฤตฅน ซึ่งเข้ากันกับ ตอนสุดท้ายเรื่อง วิกฤตวาฬ อาจารย์ธรณ์ เป็นหนึ่งใน speaker ร่วมกันกับพวกเรา ThaiWhales คุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันไปว่า ถ้าพูดถึงวาฬบรูด้าในอ่าวไทยตอนบน ถึงวันนี้เราเริ่มไม่ค่อยเป็นห่วงแล้ว ถึงแม้จะมีข่าววาฬตาย เกยตื้นบ้าง แต่อัตราการเกิด ลูกเล็กๆ ก็ดูจะมีมากกว่า เราเห็นตรงกันว่า สัตว์ทะเลประเภทวาฬและโลมาในประเทศไทยเรา ที่วิกฤตที่สุด นั่นคือ โลมาอิรวดี โดยเฉพาะโลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา ก่อนจบเสวนาอาจารย์ธรณ์ พูดทิ้งท้ายไว้ว่า พี่แดงไม่ต้องช่วยบรูด้าแล้ว บรูด้ามันหายห่วงแล้วมีคนช่วยเยอะแยะ พี่แดงมาช่วยทำอะไรให้โลมาหน่อย โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลาเหมือนเป็นความเจ็บปวดของคนทำงาน คนรักวาฬโลมาทุกๆคน เราก็เช่นกัน เรื่องราวของพวกเค้าผ่านความพยายามมาหลายครั้งแต่ก็ยังไม่สำเร็จและหลายคนเก็บเรื่องราวเค้าไว้ในมุมลึกๆ เราก็เช่นกัน แต่วันนี้เราพร้อมแล้วที่จะลองพยายามดูอีกครั้ง
ในขณะที่กำลังถ่ายทำภาพยนต์สารคดีวาฬบอกที เรื่อง วิกฤตวาฬ เราได้ลงพื้นที่ทะเลสาบสงขลา 10 วัน เพื่อไปติดตามการทำงานของทีมสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง ในภารกิจวางเครื่องมือ Acoustic เพื่อนำเสียงใต้น้ำมาวิเคราะห์หาตัวโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลาที่สำรวจพบได้ยากมากจากการมองหาด้วยตา ในครั้งนั้นเราได้พูดคุยสัมภาษณ์ลุงนวย ชาวบ้านกระแสสินธ์ุ ผู้นำเรื่องการอนุรักษ์โลมาและ ทีมสำรวจโลมาจากทช. นำโดย คุณ สันติ นิลวัตน์ เราได้รับรู้วิกฤตของโลมาอิรวดีที่เหลืออยู่ในทะเลสาบสงขลาเพิ่มมากขึ้น และ สงสารจับใจ “ไม่อยากให้โลมาอิรวดีเป็นลมหายใจสุดท้ายของทะเลสาบ” คำพูดของพี่สันติที่ให้สัมภาษณ์กับเราในวันนั้นยังดังก้องอยู่ในใจ ..... เราจะทำอะไรเพื่อช่วยพวกเค้าได้บ้างมั๊ย ?